22 ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อะไรคือ ‘บรรทัดฐานและมาตรฐานเดียวกัน’
- วันที่ 13 ธันวาคม ศาลอาญา มีคำพิพากษา ไอซ์-รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ในคดีมาตรา 112 และคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และได้ประกันตัวในวันเดียวกัน
- รักชนก ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า อยากให้ศาลใช้บรรทัดฐานและมาตรฐานเดียวกันกับผู้ที่ถูกกล่าวหามาตรา 112 และอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว
- ปัจจุบันมีผู้ต้องขังจากคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 22 คน อยู่ในระหว่างต่อสู้คดี 16 คน และมีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีก 6 คน ที่คดีถึงที่สุดแล้ว
วันที่ 13 ธันวาคม ศาลอาญา มีคำพิพากษา ไอซ์-รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ในคดีมาตรา 112 และคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ทวิตเตอร์ ศาลตัดสินจำคุกรวม 2 กรรม ทั้งหมด 6 ปี ไม่รอลงอาญา
เย็นวันเดียวกัน รักชนกได้รับการประกันตัว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดและตำแหน่ง สส.ของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทำให้รักชนกยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ สส. ต่อไปได้โดยไม่ขาดคุณสมบัติ
ภายหลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว รักชนก ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า
อยากให้ศาลใช้บรรทัดฐานและมาตรฐานเดียวกันกับผู้ที่ถูกกล่าวหามาตรา 112 และอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว เช่น ทนายอานนท์ คุณเก็ท-โสภณ คุณวารุณี อยากให้ทุกคนได้รับสิทธิที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 หลายคนผ่านการจำคุกระหว่างพิจารณาคดี และได้รับการประกันตัวพร้อมเงื่อนไขคล้ายคลึงกัน เช่น ห้ามทำกิจกรรมที่จะกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทำความผิดลักษณะเดิมที่ถูกกล่าวหา ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกเคหสถานตามกำหนดเวลา ห้ามออกนอกประเทศ และติดกำไลอีเอ็ม
รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล
บรรทัดฐานและมาตรฐานเดียวกัน?
หากอ้างอิงคำพูดของ ไอซ์-รักชนก ศรีนอก ที่ว่า “อยากให้ศาลใช้บรรทัดฐานและมาตรฐานเดียวกันกับผู้ที่ถูกกล่าวหามาตรา 112” ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ต้องขังตามคดีมาตรา 112 หลายคนยังเข้าไม่ถึงสิทธิการประกันตัว หรือถูกปฏิเสธไม่อนุญาตประกันตัว ด้วยเหตุผล เช่น สร้างความเสียหายต่อระบอบการปกครอง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง เกรงว่าจะหลบหนี ทำให้ถูกคุมขังอย่างยาวนาน แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ตาม
ตั้งแต่ต้นปี 2566 แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น เศรษฐา ทวีสิน แต่สถานการณ์ของนักกิจกรรมทางการเมืองดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เพราะมีผู้ถูกจับกุมคุมขังเพิ่มเติม และอีกหลายคนที่เคยได้รับการประกันตัวออกไป ก็ถูกถอนประกัน ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นข่าวอีกว่า นักเคลื่อนไหวอีกหลายคนอยู่ในรายชื่อที่จะถูกพิจารณาคดีและพิจารณาเงื่อนไขประกันอีกรอบ
ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า บรรทัดฐานและมาตรฐานเดียวกันที่ผู้ต้องคดีมาตรา 112 กำลังเผชิญ คือ เกือบทุกคนได้รับโทษจำคุก โดยความแตกต่างของแต่ละคนคือเวลาที่ถูกริบอิสรภาพ และโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประกันตัว
รายชื่อผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่ยังถูกคุมขัง
อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ยังมีผู้ต้องขังจากมาตรา 112 ที่คดียังไม่ถึงที่สุด และยังไม่ได้รับการประกันตัว แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น เศรษฐา ทวีสิน นับถึงวันที่ 13 ธันวาคม อย่างน้อย 16 คน
- วุฒิ (นามสมมติ): คดีมาตรา 112 ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ศาลไม่ให้ประกันตัว ถูกคุมขังตั้งแต่ 27 มีนาคม 2566
- เวหา แสนชนชนะศึก: คดีมาตรา 112 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกกระทงละ 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง ลงโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน ไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2566
- ทีปกร (สงวนนามสกุล): คดีมาตรา 112 กรณีโพสต์-แชร์คลิปตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566
- วารุณี (สงวนนามสกุล): คดีมาตรา 112 กรณีโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นชุดราตรี ถูกคุมขังหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566
- เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง: คดีมาตรา 112 ปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566
- อุดม (สงวนนามสกุล): คดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก ถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส หลังศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำคุก 4 ปี และศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566
- สมบัติ ทองย้อย: คดีมาตรา 112 ถูกคุมขังระหว่างฎีกา หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 ปี ในคดีโพสต์ข้อความ #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ และข้อความกล่าวถึงแจกลายเซ็น ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566
- อานนท์ นำภา: คดีมาตรา 112 ปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 หน้ารัฐสภา ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566
- วีรภาพ วงษ์สมาน: คดีมาตรา 112 ข้อความว่า ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่บริเวณผนังตู้ควบคุมไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร ใต้ทางด่วนดินแดง ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2566
- ภูมิ หัวลำโพง (เยาวชน): คดีมาตรา 112 กรณีร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว นิว- สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ภายหลังขอกลับคำให้การ เป็นรับสารภาพ ศาลเห็นควรให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการพิพากษา กำหนดให้ส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี ให้อบรมหลักสูตรวิชาชีพ 2 หลักสูตร ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตา ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2566
- กัลยา (นามสมมติ): คดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 2 กระทง ถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส หลังศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำคุก 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2566
- ภัทรชัย (เยาวชน): คดีมาตรา 112 ว่าทำให้เกิดเพลิงไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณทางลงด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตา ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2566
- แม็กกี้ (สงวนชื่อสกุล): คดีมาตรา 112 เกี่ยวข้องกับการใช้ทวิตเตอร์ รวม 18 ข้อความ ถูกตำรวจจับกุมไปยัง สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขัง ไม่ให้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2566
- เจมส์-ณัฐกานต์ ใจอารีย์: คดีมาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 และนำตัวไปยัง สภ.เมืองพัทลุง ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขัง ไม่ให้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566
- จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล): คดีมาตรา 112 เนื่องจากแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกรวม 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2566
- ไบรท์-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง: คดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566
นอกจากรายชื่อข้างต้น ยังมีผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่คดีถึงที่สุดแล้ว คือ
- อัญชัญ ปรีเลิศ ถูกคุมขังตั้งแต่ 19 มีนาคม 2564
- พลทหารเมธิน (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2565
- ปริทัศน์ (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังตั้งแต่ 12 ตุลาคม 2565
- วัฒน์ (นามสมมติ) ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 กรกฎาคม 2566
- กิจจา (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566
- โย่ง (นามสมมติ) ถูกคุมขังตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566